บทบาทภารกิจหน้าที่ของกลุ่มตรวจสอบภายใน
กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2561 กำหนดว่าในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้มีกลุ่มตรวจสอบภายใน เพื่อทำหน้าที่หลักในการตรวจสอบการดำเนินงานภายในกรม และสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรม รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่ออธิบดี โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
- ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบด้านการบริหาร การเงิน และการบัญชีของกรม
- ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย
ภารกิจหลัก
ภารกิจหลักของกลุ่มตรวจสอบภายใน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย 2 ภารกิจ คือ 1) การบริการให้ความเชื่อมั่น (Assurance Services) และ 2) การบริการให้คำปรึกษา(Consulting Services) โดยดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบด้านการบริหาร การเงิน และการบัญชีของกรม การปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย
หน้าที่และความรับผิดชอบในผลงานตามหน้าที่ (Responsibility & Accountability)
หัวหน้ากลุ่มตรวจสอบภายใน มีความรับผิดชอบต่อผลงานตามหน้าที่ต่อผู้บริหารกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการประจำกระทรวงยุติธรรม ในการที่จะต้องรายงานผลการประเมินประสิทธิภาพของระบบการควบคุมภายใน และระบบบริหารความเสี่ยง รวมทั้งเรื่องที่สำคัญ และแนวทางการปรับปรุงแก้ไข โดยประสานกับหน่วยรับตรวจ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับปรุงแก้ไขระบบงานนั้น
กลุ่มตรวจสอบภายใน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้
- กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง ภารกิจงานตรวจสอบภายใน เพื่อสนับสนุนการบริหารงาน และการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยให้สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการ และคณะกรรมการตรวจสอบหรือคณะกรรมการอื่นใดที่ปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกัน โดยคำนึงถึงการกำกับดูแลที่ดี ความมีประสิทธิภาพของกิจกรรมการบริหารความเสี่ยงและความเพียงพอของการควบคุมภายในของหน่วยงานของรัฐด้วย
- กำหนดกฎบัตรไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและเสนออธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเผยแพร่หน่วยรับตรวจทราบ รวมทั้งมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
- จัดให้มีการประกันและปรับปรุงคุณภาพงานตรวจสอบภายในทั้งภายในและภายนอก ตามรูปแบบและวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด
- จัดทำและเสนอแผนการตรวจสอบประจำปีต่ออธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อพิจารณาอนุมัติภายในเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ ในกรณีที่หน่วยงานตรวจสอบภายในวางแผนการตรวจสอบระยะยาว ให้นำมาใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติแผนการตรวจสอบประจำปีด้วย
- ปฏิบัติงานตรวจสอบให้เป็นไปตามแผนการตรวจสอบประจำปีที่ได้รับอนุมัติ
- จัดทำและเสนอรายงานผลการตรวจสอบต่ออธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนภายในเวลาอันสมควร และไม่เกินสองเดือนนับจากวันที่ดำเนินการตรวจสอบแล้วเสร็จตามแผน
- 7. จัดทำและสรุปรายงานผลการปฏิบัติงานตามแผนการตรวจสอบประจำปีเสนอต่ออธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทุก 4 เดือน
- รายงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
- ติดตามผลการตรวจสอบ เสนอแนะ และให้คำปรึกษาแก่หน่วยรับตรวจ เพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขของหน่วยรับตรวจเป็นไปตามข้อเสนอแนะในรายงานผลการตรวจสอบและการประสานงานกับหน่วยรับตรวจ เพื่อให้ผู้บริหารของหน่วยรับตรวจมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะ ในอันที่จะทำให้ผลการตรวจสอบมีประโยชน์ สามารถนำไปสู่การพิจารณาปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ปฏิบัติงานในการให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหาร หน่วยรับตรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการประจำกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าขอบเขตของงานตรวจสอบครอบคลุมเรื่องที่สำคัญอย่างเหมาะสมและลดการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนกัน
- ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการประจำกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ หากมีบทบาทหรือความรับผิดชอบที่นอกเหนือจากงานตรวจสอบภายในจะต้องมีมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเป็นอิสระหรือความเที่ยงธรรม
- การพัฒนาการปฏิบัติงานตรวจสอบ โดยการนำเทคโนโลยีหรือโปรแกรมสำเร็จรูปมาช่วยการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ข้อมูล และการพัฒนาระบบการรายงานผลการตรวจสอบของแต่ละหน่วยรับตรวจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ของกลุ่มตรวจสอบภายใน www7.djop.go.th/audit โดยมีการกำหนดสิทธิ์ผู้ใช้งานให้แก่ระดับผู้บริหารกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนและหน่วยรับตรวจ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- จัดทำแผนและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรกลุ่มตรวจสอบภายใน เข้ารับการฝึกอบรมโครงการหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ตรวจสอบภายในภาครัฐ (CGIA) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน
- 15. จัดทำโครงการฝึกอบรมบุคลากรหรือร่วมกับกลุ่มงานคลังในการให้ความรู้กับผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานหรือผู้กำกับดูแลด้านการเงินการคลังหน่วยงานในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยการพัฒนาศักยภาพการกำกับดูแล การปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การซักซ้อมความเข้าใจ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ปัญหาและหาแนวทางที่เป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน เกี่ยวกับระเบียบ หลักเกณฑ์การปฏิบัติงานด้านการเงินการคลังที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมให้เกิดกระบวนการกำกับดูแลที่ดี (Good Governance)มีความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน (Transparency) สามารถตรวจสอบได้ (Auditability)ป้องกันการประพฤติมิชอบ และเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์